ถ้าเรียกว่า “อาชีพรับจ้าง” ยังไงก็ต้องเสียภาษี ตามข้อกำหนดของกรมสรรพากร เห็นผมเป็น blogger รับงานโน้น นี่ ผมเสียภาษีครบทุกบาท ทุกสตางค์ เรามาดูกันว่า การเสียภาษี โดยการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นยังไง ส่วนของดาราสาว ไปอ่านได้จาก บล็อกภาษีข้างถนน ครับ
สำหรับผมนั้น ตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี เริ่มทำงาน เนื่องด้วยผมชอบงานแปล ผมจึงทำงานแปลกับบริษัทแปล อย่าง Sigma Translation, TIS Translation, AMD Far East (ประเทศไทย) [ผลิตภัณฑ์ AMD และ ATI] ทุกงานที่ผ่านมือผม หักภาษี ณ ที่จ่าย 3% เรียบร้อยแล้วครับ (ถ้าเป็นดารา นักแสดง จะถูกหักภาษี 5% โหดกว่า หึหึ)
ดังนั้น ถ้าคุณตกลงว่ามีค่าจ้าง 1,000 บาท เงินที่เข้าบัญชี หรือออกเป็นเช็กให้คุณ จะไม่ใช่ 1,000 บาทครับ จะเป็นเงินที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 3% แล้วเรียบร้อย จากนั้นจะมีใบสำคัญการหักภาษี ณ ที่จ่าย ส่งมาให้ถึงบ้าน
จำนวนเท่าไหรถึงจะหักภาษี? ผมเคยเขียนบทความให้นิตยสารเล่มหนึ่งในราคา 500 บาทต่อหน้า – 500 บาทก็หักภาษีนะครับ (แล้วแต่บริษัท บางแห่งเกิน 1,000 บาทถึงจะหักภาษี) แต่กรมสรรพากร ระบุว่า ถ้าเกิน 1000 บาท ต้องหักภาษีนะครับ (ดูภาพประกอบด้านล่าง)
อัตราการหักภาษีนี้ อ้างอิงจาก กรมสรรพากร โดยคิดจากอัตราหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% สำหรับผู้ที่ได้รับเงินจากค่าบริการ, รับจ้างทำของ, รางวัล, ส่วนลด, รับจ้างทำงานให้, ค่าสิทธิ, วิชาชีพอิสระ (อื่นๆ) ซึ่งการรับงานแปล และงานเขียน บล็อกเกอร์ ก็จะจัดอยู่ในอาชีอิสระด้วยเช่นกัน (ตอนที่ไปยื่นภาษี ผมเขียนในใบภาษีว่า บล็อกเกอร์ เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรไม่รู้จักนะครับ จริงๆคืออาชีพอิสระ นักเขียน)
ผมทำอาชีพนักแปลอิสระมาก่อน โดยบริษัทแปล จะหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ 3% และมีใบสำคัญหักภาษีมาให้เรา เอาไว้ยื่นให้กับกรมสรรพากร ตาม ภ.ง.ด. 3 ที่ต้องยื่น และการทำงานกับอเจนซี่งานแปล ทำงานบล็อกเกอร์ก็เช่นกัน หัก 3% เหมือนกัน
แต่อย่าคิดว่า แบบนี้เราก็ได้เงินไม่ครบน่ะสิ เพราะเราหักภาษีจ่ายกรมสรรพากรไปแล้วไงครับ พอถึงเวลายื่นภาษี เราก็ยื่นว่าเราจ่ายไปเท่าไหรแล้ว เหลือจ่ายอีกเท่าไหร
มีอีกแบบนึงครับ ถ้าจะทำให้เราได้เงินครบตามที่ตกลงไว้ คือการคุยให้บัญชี (แล้วแต่บริษัท) ทำจ่ายเงินเกินจากที่ตกลงกันไว้ เพื่อให้เมื่อหักภาษีแล้ว เราได้เงินครบตามจำนวนที่ตกลงไว้นั่นเองครับ แต่วิธีนี้ ผมไม่รู้นะ ว่าจะผิดกฏหมายหรือซิกแซกหรือเปล่า
ที่นี้ ไม่ว่าจะเป็นนักแปลอิสระ บล็อกเกอร์ นักเขียน ทุกชิ้นงานที่ได้เงิน ผมได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่เว้นแม้กระทั่ง การได้สินค้าฟรี ก็มีใบเสร็จรับเงินเพื่อยื่นแสดงรายได้ต่อกรมสรรพากรด้วยเช่นกัน อย่าลืมนะครับ ทุกอาชีพ ไม่ว่าจะทำอะไรที่ได้เงินบนโต๊ะแบบสุจริต ทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีครับ อย่าคิดว่า หักไปแล้วเหลือนิดเดียว เพราะคุณมีหน้าที่เสียภาษีครับ เงินคุณไม่ได้หายไปไหน แต่เสียภาษีให้กับกรมสรรพากรครับ
ส่วนเรื่องการลดหย่อนภาษี จะพูดถึงในบล็อกต่อไปครับ ก่อนจบบล็อกนี้ ขอรับรองว่า ทุกชิ้นงานที่อ่านบทความผมในทุกๆสื่อ หักภาษี ณ ที่จ่าย ถูกต้องตามกฏหมายครับ 😀