พนักงานบริษัท จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไร ไม่ให้กระทบต่อองค์กร

ภาพจาก tribune.com.pk
ภาพจาก tribune.com.pk

ช่วงนี้ การเมืองเข้มข้นมาก แล้วก็มีการแสดงพลังของกลุ่มนักธุรกิจสีลม และคนทำงาน ที่นี้ พนักงานจะมีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไร (ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์) ที่จะไม่ให้เดือดร้อนเสื่อมเสียไปถึงบริษัท อันนี้น่าคิด จากกรณีของ Prima Gold ที่มีประเด็นก่อนหน้านี้ บน Facebook Fan Page ‘Prima Gold’ ที่มีพนักงานแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ชูป้ายด่านายกฯ สุดท้ายต้องลาออก นี่เป็นตัวอย่างของการแสดงความเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับองค์กร แต่ก็มีผลกระทบเสียหายต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กรด้วยเช่นกัน

การแสดงออกทางการเมืองของพนักงาน สามารถกระทำได้โดยอิสระ ตราบใดที่ไม่กระทบต่อชื่อเสียงขององค์กร ดังที่ทาง พรีม่าโกลด์ ได้ชี้แจงไว้บน Facebook อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง แต่เหตุใด จึงมีผลกระทบมาถึงบริษัท แถมบน Facebook ก็โดนถล่มเละ

จากข่าวนี้ การแสดงออกถึงความคิดเห็นทางการเมืองของบุคคลนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัท หรือองค์กรแต่อย่างใด แต่มีบุคคลอื่น ได้นำข้อมูลของบุคคลดังกล่าว ออกมาเปิดเผย (ตอนนี้อย่าลืมว่าทั้ง Facebook, Twitter, LinkedIn เปิดเผยสถานที่ทำงานชัดเจน) แถมบุคคนี้ ยังเป็นถึงระดับผู้บริหารระดับสูงขององค์กรด้วย จึงทำให้คนทั่วไปอาจคิด (ต่อ) ได้ว่า บริษัทนี้ มีนโยบายแบบนี้ เพราะผู้บริหารคิดแบบนี้ สนับสนุนเรื่องนี้ (จริงๆมันไม่ได้เกี่ยวกันเลย)

อย่างไรก็ตาม การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่อย่าลืมว่า การแสดงออกทางการเมืองใดๆ บน Facebook Profile ของคุณ กำลังแบกชื่อ ตำแหน่งหน้าที่การงานของบริษัทอยู่ด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะเป็นเวลานอกทำการของบริษัทก็ตาม

ในมุมของพนักงาน สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้โดยอิสระ บริษัท ไม่มีสิทธิบังคับ และไม่สามารถบังคับให้พนักงานแสดงออกในด้านใดด้านหนึ่งได้ แต่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัท

ก่อนหน้านี้ก็เคยมีประเด็นของ IKEA ผมคัดลอกมาให้ดูบางส่วน อ้างอิงจาก Facebook IKEA

คนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ประเทศใดต่างมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล และความคิดเห็นนั้นย่อมเป็นของ “ส่วนบุคคล” ไม่ใช่ความคิดเห็นที่มาจากบริษัทหรือองค์กรใดๆ ในกรณีนี้ เราต้องการย้ำอีกครั้งว่าความเห็นดังกล่าวไม่ใช่ความเห็นของ IKEA เยอรมัน IKEA ประเทศไทย หรือ IKEA ประเทศใดๆก็ตาม IKEA ยินดีรับฟังความคิดเห็นของทุกคนบนพื้นฐานของความสุภาพและความเคารพซึ่งกันและกัน

อีกเคสนึงก็คือ (อดีต) แอร์สายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิก ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ก็ถูกเหมานำเรื่ององค์กรเข้ามาอยู่ในประเด็นเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า หลายครั้งหลายครา พนักงานบริษัท แสดงออกทางความคิดเห็นใดๆทางการเมือง ก็มักจะมีคนค้นหาข้อมูลว่าบุคคลนั้นๆ ทำงานที่ไหน มีความคิดแบบใด ตลอดจนเคยเข้าร่วมการชุมนุมหรือการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบใดบ้าง การที่ Facebook แสดงชื่อ ตำแหน่ง บริษัท บนหน้าโปรไฟล์ ก็ทำให้ประเด็นของความเป็นส่วนตัว ไม่ส่วนตัวอีกต่อไป ถึงแม้เราจะมองว่าเป็นส่วนตัวก็ตาม เพราะจะมีการโยงเข้าว่า พนักงานบริษัท … มีความคิดเห็นแบบนี้ ซึ่งจริงๆไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย

มาถึงส่วนของพนักงานบริษัท ที่ดูแลด้าน branding, communication บ้าง บางคนอาจจะมี identity ที่แสดงออกให้เห็นว่าทำงานในบริษัทใด องค์กรใด โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้าน Digital Branding, Digital Marketing, PR, Social Media Marketing ก็ตาม สำหรับคนที่ทำงานในแวดวง Social Media ดูแล branding ดูแล Fan Page แบรนด์ต่างๆ มีคำแนะนำมาฝากครับ

หากใครสังเกต จะเห็นได้ว่า แบรนด์ต่างๆ จะไม่แสดงออกทางการเมือง ส่วนตัวพนักงานจะแสดงออกอย่างไร สุดแล้วแต่ บริษัท ไม่มีการบังคับ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เมื่อมี Social Media มันจะไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เพราะเราผูกแบรนด์ และชื่อบริษัทไปในโปรไฟล์ของ Facebook, Twitter ส่วนตัวของเราแล้ว แม้ว่าเราจะแสดงความคิดเห็น “ส่วนตัว” ก็จริง แต่หากมีใครพยายามที่จะโยงบุคคลเข้ากับบริษัท ก็จะกลายเป็นการอ้างอิงหรือพาดพิงได้ว่า พนักงานบริษัท … คิดเห็นแบบนี้ ซึ่งบริษัท อาจจะไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดดังกล่าวก็เป็นได้ เรื่องแบบนี้ อาจจะมีผลทำให้คนอื่น มองว่า พนักงานบริษัทนี้ แบรนด์นี้ แสดงความเห็น แสดงจุดยืน ในทางการเมืองแบบนี้ หรืออาจจะเหมารวมว่าทั้งบริษัท มองแบบนี้ ซึ่งเสียหายต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ ตรงนี้พนักงานจะต้องระมัดระวังให้มาก รวมไปถึงการใส่เครื่องแบบพนักงาน เสื้อที่มีโลโก้ มีชื่อบริษัท ก็อาจจะถูกเหมารวมได้

ในส่วนของคนที่มีหน้าที่ในการดูแลแบรนด์ จะต้องไม่แสดงจุดยืนใดๆทางการเมือง ที่อาจมีผลกระทบต่อแบรนด์ เช่น เห็นหน้าคนนี้ นึกถึงแบรนด์นี้ทันที อาจจะโดนโยงเข้ามาเกี่ยวข้องกันได้ หรือคนที่ดูแล Social Media อาจจะลืมคิดไปว่า ตัวเองกำลังเป็นแอดมินเพจนี้อยู่ แล้วเผลอไปกด Like เพจสนับสนุนข้างใดข้างหนึ่ง (ซึ่งแน่นอนว่า บน Feed จะแสดงว่าเพจนี้ กด Like เพจนี้ เป็นต้น) อันนี้ก็จะกลายเป็นประเด็น  หรือแม้กระทั่ง พนักงานใส่เสื้อที่มีแบรนด์ หรือโลโก้บริษัทไปรวมตัวกัน ตรงนี้ บริษัทอาจจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็เป็นได้ แต่อย่าลืมว่า คู่แข่งทางธุรกิจ อาจอาศัยช่องทางตรงนี้ในการโจมตี ดังที่พรีม่าโกลด์ เจอดราม่าเข้าไป

สรุปแล้ว การโพสต์ความเห็นใดๆ ทางการเมือง ในฐานะ “ส่วนตัว” (Personal) สามารถทำได้ แต่คนที่ดูแล Online / Social Media ควรระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นใดๆในนามของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ความเห็น การแชร์ กด like, tag บนสื่อออนไลน์ต่าง ๆ มาแสดงบน social network ของแบรนด์ อันนี้ต้องระวังครับ เอามาฝากสำหรับคนดูแลแบรนด์ต่างๆ ด้วยครับ

ความเห็นผมคือ ส่วนบุคคลสามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไรก็ได้ หากไม่กระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรครับ

ใครมีความคิดเห็นอย่างไร แลกเปลี่ยนกันได้นะครับ