Yokekung World

วิธีเอาตัวรอดในเมืองกรุง ของพนักงานออฟฟิศ ด้วยเงินสด 100 บาท ต่อวัน

100baht-bangkok

ในมหานครเมืองหลวงของประเทศไทย “กรุงเทพมหานคร” กับ #ค่าครองชีพ ตอนนี้ คุณคิดว่า จะใช้เงินวันละ 100 บาท ได้หรือไม่? คิดว่าเป็นไปได้ไหม? (หมายเหตุ บทความนี้ เขียนในปี 2014)

ภาพจาก Facebook Smart SME  cr.Fujimi Magnificent

จั่วหัวว่า “วิธีเอาตัวรอดในเมืองกรุง ของพนักงานออฟฟิศ ด้วยเงินสด 100 บาทต่อวัน” ที่ย้ำว่าพนักงานออฟฟิศ และ “เงินสด” ก็เพราะว่า พนักงานออฟฟิศ มีค่าครองชีพสูง โดยเฉพาะในบางพื้นที่ ข้าวแกงก็ปาเข้าไป 30 – 40 บาทเป็นอย่างต่ำ น้ำแก้วละ 35 – 45 บาท นอกจากนี้ พนักงานออฟฟิศถูกละลายเงินสดด้วยตลาดนัด ขนม น้ำ เสื้อผ้า ช้อปปิ้งทั้งหลาย ดังนั้น ถ้าจะเอาตัวรอดด้วยเงิน 100 บาท มันเป็นเรื่องที่ท้าทายมากในยุคนี้

เชื่อว่าหลายๆคน คงเคยอ่าน วิธีรัดเข็มขัดให้ใช้เงินไม่เกินวันละ 300 บาท ที่แชร์กันบน Facebook แต่สำหรับผม เคยหยิบแบ้งค์ 500 ขึ้นมา แล้วท้าทายตัวเองว่า เงิน 500 บาท เราจะใช้ทั้งอาทิตย์ (วันทำงาน 5 วัน) ในเมืองกรุง ได้ยังไง จึงเป็นที่มาของบล็อกตอนนี้ “วิธีเอาตัวรอดในเมืองกรุง ด้วยเงินสด 100 วันต่อวัน”

อ่านตรงนี้ก่อน

ต้องขอออกตัวก่อนว่า การที่จะใช้ “เงินสด” มูลค่า 100 บาทต่อวัน ในเมืองกรุง แทบจะเป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแต่ละคน ถ้าแถวที่ทำงานขายอาหารราคาแพง หรืออยู่ในย่านธุรกิจ ก็ยิ่งยากมากๆ ผมจึงขอเขียนในมุมของ “เงินสด 100 บาท” ย้ำนะครับว่า “เงินสด” ไม่ใช่ “ตัวเงิน” เพราะแม้ว่าเอาเข้าจริงจะไม่ได้ใช้ตัวเงินในมูลค่า 100 บาทต่อวันได้จริงๆ เพราะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆมากมาย แต่ต้องยอมรับตรงๆว่า “เงินสด” 100 บาท บวกกับเงินในประเภทอื่น ไม่ใช่เงิน 100 บาทเพรียวๆ กลมๆ และหมายเหตุเพิ่มเติม ความจำเป็นแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนคอนโด อยู่บ้านพ่อแม่ แต่ละคนจึงมีความแตกต่างกัน แต่ผมขอเล่าประสบการณ์ของตัวผมเองครับ

ผมมีวิธีและเทคนิคมานำเสนอ แต่อย่างน้อยเราก็คุมการใช้เงินของเราได้ บังคับตัวเองได้ และ ไม่เสียเงินสดเยอะไปกว่านี้

อันดับแรก หารก่อน ว่าเงินเดือนเราเท่าไหร สมมุติ 15,000 บาท เฉลี่ยวันละ 500 บาท (30 วัน) แต่เอาเข้าจริงๆ เงินเราไม่ได้มีเท่านี้ เพราะมีหนี้ ค่าน้ำ ไฟ หอ ค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายอีกเยอะมาก แต่อย่างน้อยเรารู้ว่า วันนึงเราไม่ควรใช้เกิน 500 บาท ถ้าเงินเรามี 15,000 บาท (บางคนอาจจะมีเบี้ยเลี้ยง โอที ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ บริษัทออกให้ก็เฉลี่ยกันไป)

ทำอาหารมาทานที่ออฟฟิศ

เงินจำนวนเต็ม = 100 บาท หากภรรยาผมทำอาหารมาให้ทานที่ออฟฟิศ ผมแทบไม่ต้องใช้เงินอยู่แล้ว ภรรยาทำอาหารเช้าให้ทานที่ออฟฟิศ ทำอาหารกลางวันให้ทานที่ออฟฟิศ (แต่ถ้าตีมูลค่าอาหารแล้ว อาหารที่ทำเอง เผลอแพงกว่าซื้ออีกนะครับ แต่เราถือว่าเราซื้อความสะอาด ปลอดภัย และไม่แดดร้อนเดินไปทานอาหารตอนเที่ยง ส่วนตอนเย็นกลับไปทานข้าวที่บ้าน

ดังนั้นใน 100 บาท ผมใช้อะไรบ้าง ค่าโดยสารมอเตอร์รับจ้าง 20 บาท ไป-กลับ 40 บาท (ค่ารถไฟฟ้า BTS & MRT ซื้อตั๋วเดือน รวมๆแล้วเดือนละ 2000 + / – บาท) เหลือโควต้าใช้เงินได้ 60 บาท ใน 60 บาทนี้ ถ้าเอานมกล่องมาจากบ้าน (ซื้อเป็นแพ็คถูกกว่าเป็นกล่องเดี่ยว) เอาขนมมาจากบ้าน (ภรรยาทำให้) เราก็จะเหลือเงินที่ใช้ได้คือ 60 บาท

ถ้าอยากทานชานม ชาเขียว ที่เป็นแก้ว ถ้าแก้วละ 30 – 35 ซื้อแก้วนึงก็เหลือเงินไม่กี่บาท เปลี่ยนไปทานกาแฟ ชา ร้านรถเข็นแทน (เรียกว่าร้านชาโบราณ หรือกาแฟรถเข็นละกัน น่าจะเข้าใจตรงกัน และเห็นภาพนะครับ) ตอนนี้ราคาถูกที่สุดคือ 17 บาท เราก็เหลือเงินเยอะขึ้น แต่ถ้าอยากทานไมโล กาแฟชง เราก็เอาแบบ 3-in-1 ไปที่ออฟฟิศ หรือถ้าที่ออฟฟิศมีให้กดน้ำเปล่า ชงกาแฟ ไมโลฟรี ก็ชงกินฟรี ไม่ต้องใช้เงินซื้ัอเป็นแก้ว หรืออีกวิธี ผมซื้อน้ำแข็งใส่แก้วพลาสติก 3 บาท แล้วชงไมโลฟรีที่ออฟฟิศ เทน้ำแข็งจากแก้วพลาสติก ใส่แก้วกระเบื้อง เฉลี่ยราคาต่อแก้วถูกกว่าไปซื้อ (ถ้าไปซื้อ แก้วละ 20 บาท) ทำให้เราหักห้ามใจไม่ใช้เงินที่ไม่จำเป็นได้ จะเห็นได้ว่าวิธีแบบนี้ ตัวเงินจริงๆเราใช้เกิน 100 บาทอยู่แล้ว ทั้งอาหารที่นำไปทาน ไมโลชงแบบซอง แต่รู้ไหมว่า สิ่งที่สิ้นเปลืองมากที่สุด ของพนักงานออฟฟิศคือ “ตลาดนัด” บางวันเราเสียเงิน 20 – 60 บาท เพื่อซื้อขนม ของทอด บางวันเป็นร้อย ตลาดนัดเนี่ยแหล่ะทำให้เราเสียเงินเยอะมากกกกกก (แถมอ้วนอีกต่างหาก) ดังนั้นถ้าอยากจะเดินตลาดนัด ผมจะตั้งงบไว้ เช่น ไม่เกิน 20 บาท เดินรอบนึง ซื้ออะไรได้บ้าง ถ้าดูแล้วอยากกินของราคา 35 บาท เราก็จะงดน้ำ ไปชงกินฟรีหรือนมกล่องที่เอามาจากบ้านแทน

แล้วถ้าทำอาหารเองไม่เป็นล่ะ หรือไม่มีแฟนทำอาหารให้ แบบนี้ก็ซื้อข้าวทานตามปกติครับ แต่แทนที่จะทานศูนย์อาหาร หรือร้านที่ขายจานละร้อย ก็ทานจานละ 30 – 40 บาท น้ำเปล่า 10 บาท (ตกมื้อละ 50 เข้าไปแล้ว) น้ำชงกินฟรี กดน้ำเปล่าที่ออฟฟิศ ถ้าซื้อกาแฟ ชา แก้วละ 35 – 45 ก็ไม่ไหวละ เกินงบ คือทำอะไรก็ได้ ให้เรากำหนดค่าใช้จ่ายได้ อะไรต้องจ่ายก็จ่ายไป อะไรงดได้ก็งด อะไรไม่จำเป็นก็ไม่ต้องจ่าย แต่ย้ำว่า ไม่ต้องอดครับ

ยอมรับว่า ช่วงแรกๆบังคับตัวเอง เครียดเหมือนกันนะ คือมีเงิน แต่ทำเหมือนไม่มีเงิน คือไม่เอาบัตร ATM พกไป เงินมีติดกระเป๋าเต็มที่ไม่เกิน 500 เผื่อซื้ออะไรเข้าบ้าน ถ้ากระเป๋าตังเรามีหลายช่อง ใช้ช่องแบ่งเงินไว้เลย จำไว้ว่าเราใช้เงินจ่ายค่าอะไรไปบ้าง ง่ายที่สุดแตกแบ้งค์ย่อยไว้ จ่ายค่ามอเตอร์ไซต์ 20 บาท ถ้าให้แบ้งค์ร้อย เขามีทอน ก็เหลือ 80 หักไปอีก 20 เผื่อค่ารถตอนขากลับ ก็จะเหลือ 60 บาท เป็นต้น

ถ้าถามว่า อยากกิน Starbucks ทำยังไง เงินสด 100 บาท กิน Starbucks ไม่ได้แน่ๆ ผมใช้วิธีนี้ครับ ถ้าเรากะจะใช้เงิน 500 บาท / 5 วันทำงาน ถ้าเฉลี่ยโควต้าใช้เงินได้วันละ 100 บาท คุณซื้อกาแฟไปร้อยกว่า คุณต้องยอมเฉลี่ยเงินวันอื่นเหลือน้อยลง เช่น ผมซื้อ Startbucks 1 แก้ว เงินในแต่ละวันถ้าลบ 40 บาทค่าวินไปกลับ จากปกติเหลือ 60 ค่ากิน ก็จะลดเหลือ 30 – 40 บาท ต่อวัน หรืออีกวิธีคือ “อดทน” ครับ วันทำงานผมจะเป็นวันอดทน แต่เสาร์อาทิตย์เป็นวันปล่อย ดังนั้น ถ้าอยากกินสตาร์บัคส์ วันเสาร์อาทิตย์โลด หรือใครมีบัตรก็ตั้งงบไว้ เติม 500 บาท ใน 1 เดือนห้ามเติมเงินเพิ่ม

ถ้าอยากกินบุฟเฟ่ต์ล่ะ ทำยังไง ทำเหมือนเดิมครับ ผมถือว่า สัปดาห์นึง เราจะมีวันปล่อยวันนึง วันทำงาน บังคับตัวเองให้ใช้เงินวันละ 100 บาท ส่วนวันหยุด ถ้าอยากกิน กินเลยครับ แต่ก็กันงบไว้คนละไม่เกิน 500 บาท ส่วนกินบุฟเฟ่ต์กับเพื่อนที่ทำงาน เป็นภาษีสังคมที่ควรทำ เราก็ไปลดค่าใช้จ่ายอื่นๆแทน (แต่แผนกผมหัวหน้าเลี้ยงบ่อย โชคดี ^^)

ถ้าตอนเย็นวันทำงาน อยากกินสเต๊ก กินส้มตำ ตีมูลค่าเงินว่ามื้อละ 200 – 400 บาท (ต่อ 2 คน) อันนี้เราก็ใช้เงินเหมือนเดิมครับ ใน 100 บาท ถ้าเหลือก็เอามาโปะวันถัดไป เงินค่ากินมื้อเย็นก็เป็นอีกส่วนนึง หรืออีกนัยนึงคือ 100 บาทคือใช้ส่วนตัว คนเดียว บริหารจัดการตัวเอง

เงินอีเล็คทรอนิคส์ ช่วยได้

ผมมีบัตร 7-11 Card เป็นบัตรเงินสด เงินอีเล็คทรอนิคส์ครับ มีหลายวิธีเลยที่ผมมักจะเอามาใช้เพื่อไม่ให้ไปเบียดเบียนเงินสด 100 บาทต่อวัน แถมทำให้เราควบคุมการใช้เงินได้ด้วย

เติมเงินเข้าบัตร 7-11 เวลาเข้า 7-11 ก็ใช้บัตร 7-11 จ่าย ซื้อเท่าไหรก็ซื้อไป แต่เรากำหนดไว้แล้วว่าเงินในบัตรมีเท่าไหร อ้อ บัตร 7-11 เนี่ย เอาแต้มแลกแทนเงินสดได้ด้วยนะ ถ้าวันไหนเราจน เงินหมด เอาบัตร 7-11 เนี่ยแหล่ะจ่าย หรือแลกแต้มเป็นเงินสดได้

ถ้าออฟฟิศอยู่ใกล้ห้าง Big C, Tesco, The Mall, Central แบบเดินไปได้ ถ้าซื้อบัตรศูนย์อาหารแบบที่อายุ 30 – 90 วันได้ก็ซื้อไว้ครับ วันไหนเราอยากเปลี่ยนบรรยากาศกินอาหารในห้าง ก็ใช้บัตรศูนย์อาหารเนี่ยแหล่ะซื้อ แต่อย่าลืมแลกคืนล่ะ ต้องมีวินัยนิดนึง และห้ามลืมบัตรทิ้งไว้ที่โต๊ะเด็ดขาด เคยทำตอนทำงานใกล้ Big C พระราม 4 เติมเงินเข้าบัตรไว้ 500 บาท วันไหนอยากกินก็พกบัตรเดินไปกิน ไม่ต้องเบียดเงินสด

ถ้าใครแลกแก้ว Rilukkuma, LINE Friends มา จะมีคูปองให้เติมน้ำ จาก 24 บาท 22 ออนซ์ เหลือ 15 บาท เอามาใช้ได้ครับ อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องเสียเงิน 35 บาท ซื้อกาแฟ ชา ประหยัดได้เยอะ แถมในงบ 30 บาท เราซื้อได้ 2 แก้วด้วย

แม้ว่าวิธีของผม จะไม่ได้ตอบโจทย์การใช้เงินวันละ 100 วันตามมูลค่า แต่การกำหนดการใช้เงินสด 100 บาท อย่างน้อยการบังคับตัวเอง หักห้ามใจ คิดก่อนจ่ายเงิน และประหยัดไปได้เยอะอยู่ แถมเราประหยัดเงินเพื่อเก็บเงินไปเที่ยวได้ด้วย

ส่วนการใช้เงินในส่วนอื่นๆ เรารู้และติดตามได้ว่าใช้ไปเท่าไหร เช่น บัตรเครดิต รูดบัตร Visa เราก็จะมีสลิปให้เห็นว่าใช้ไปเท่าไหร แต่สิ่งที่สิ้นเปลืองที่สุดก็คือค่ากิน การใช้เงินสดเนี่ยแหล่ะครับ ถ้าไม่ควบคุมไว้แบบนี้ วันนึงๆ ค่าใช้จ่ายส่วนตัวคนเดียวปาเข้าไป 300 บาทเลยทีเดียว ถ้ายังกิน ชาเขียว แก้วละ 35 เช้า แก้ว เย็น แก้ว ก็ 70 บาทละ ไม่รวมค่าอาหารเช้า อาหารมื้อกลางวันอีก ทำให้เราใช้เงินวันละ 200 – 300 บาท โดยไม่รู้ตัว

เพื่อนๆมีไอเดียในการใช้เงินยังไงบ้างครับ? เงินสด 100 บาท วันนึง เป็นไปได้ไหม?

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

เราใช้เงินวันละ 42 บาท ไปทำงาน แล้วเพื่อนๆล่ะคะ?

ได้เงินใช้วันละ 100 บาท *-*

[ถามผู้ชาย]ถ้าแฟนให้เงินใช้วันละ 100 คุณจะอึดอัดไหมคะ

ใน กทม มีใครใช้เงินวันละไม่เกิน 100 บาท บ้างครับ

Exit mobile version