Gen Z คืออะไร ผมได้เขียนบล็อกที่แล้ว ส่วนคนทำงาน คนที่หาคนทำงาน บริษัทที่หางาน และ HR ก็อยากจะรู้จัก Gen Z มากขึ้น ทางกลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย ได้จัดเสวนาพิเศษเรื่อง “Unboxing Gen Z: The Workforce of The Future in Thailand” (ทำความรู้จักกับ Gen Z – อนาคตของสังคมการทำงานรุ่นต่อไป) ณ โรงแรมโซฟิเทล โซ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยมีมุมมองที่น่าสนใจจากหลายท่าน
ข้อมูลจาก @AdeccoThailand และแท็ก #AdeccoGenZ
ผู้ร่วมการเสวนา
คุณเอียน กรันดี้ ผอ.ฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ อเด็คโก้เอเชีย
พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
คุณกิติกัญญา สุทธสิทธิ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม People จาก Dtac
คุณศันสนะ ด่านศมสถิต ผู้จัดการสำนักงานการบุคคล บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด (มหาชน)
โดยมีคุณธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค – ไทยและเวียดนาม กล่มุบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ไม่ต้องมองที่ไหนไกล เดินทางโดยรถไฟฟ้า ก็จะเห็นทุก Gen ก้มมองมือถือ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตของตน มุมมองจาก อาจารย์แพทย์หญิง จิราภรณ์ อรุณากูร มองว่า เด็ก Gen Z โตมาพร้อมเทคโนโลยี, ฉลาดขึ้น,Multi-tasking, กินข้าวไป ถ่ายรูปไป แชทไป ได้ (เอ๊ะ ผมก็เปิดแบบนี้ หรือเรา Gen Z ฮาาา)
เด็ก GenZ เป็นเด็กมีความมั่นใจ ใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นผู้อื่น โดยเฉพาะการแชร์ข้อมูลส่วนตัว ใช้ Social Media เป็นหลัก แต่ด้วยความที่ก้มมองมือถือ จดจ่อกับมือถือ Social Network เนี่ยแหล่ะ ทำให้เด็กGenZ มีความสามารถด้านการเผชิญหน้าลดลง เวลาทะเลาะกับใครก็เข้า Social Media แล้วโพสต์ และจะรู้สึกดีที่มีคนในโซเชียลปลอบใจ
ผู้เขียน: ตรงนี้ถ้ามองการทำงาน ทุก Gen ไม่ควรใช้ Social Network ในการโพสต์บ่นเรื่องงาน ไม่พอใจอะไรก็บ่นผ่าน Social Network เพราะคิดว่า Social Media คือพื้นที่ส่วนตัว แต่จริงๆแล้วมันคือ Media มันคือสื่อ แม้ตั้งแชร์ friends only ก็อาจโดน capture หน้าจอไปโพสต่อหรือเรื่องถึง HR ได้
นอกจากนี้ เด็กไทยอยู่กับเทคโนโลยี 6 ชั่วโมงต่อวันแ ละจะถูกรบกวน ขัดจังหวะตลอดเวลา ทำให้สมาธิสั้น เพราะมีข้อมูลทางโซเชียลขึ้นเตือนตลอดเวลา เหมือนกับเราสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วเปลี่ยนเรื่องกระทันหัน (ผู้เขียนก็เป็น) และด้วยความที่อะไรก็รวดเร็ว ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่อดทนรอคอย รักความสะดวกสบาย
อาจารย์บอกว่า ถ้าอยากรู้ว่าใคร Gen อะไรให้ถามว่าอยากเป็นอะไร Gen X จะตอบหมอ วิศวะ Gen Y เป็นนักธุรกิจ มองเรื่องเงินเป็นหลัก Gen Z อยากเป็นเชฟ อยากเข้าวงการ มองหาอาชีพแปลกๆ เพราะเขาอยากพรีเซ็นต์ (ความสามารถ) ตนเอง อยากให้คนยอมรับ และมั่นใจในตัวเอง
ในมุมของบริษัทที่คนอยากเข้าร่วมทำงานอย่าง Dtac คุณกิตติกัญญา สุทธสิทธิ์ Chief People Officer-DTAC ได้ให้ข้อมูลกลยุทธ์การดึงคนกลุ่ม Gen Z เข้าร่วมงานในอนาคต โดยใช้ 4C ได้แก่ Competency, Climate, Culture, Care and growth ตรงนี้น่าจะสอดรับความต้องการคน Gen Z ได้ดี เพราะเน้นความก้าวหน้า เติบโต
DTAC มองคน Gen Z เรียนรู้ได้ เข้าใจได้ แต่ต้องเติบโตเร็ว อยากมีพี่เลี้ยง มีหัวหน้างานเป็นโมเดลหรือไอดอล อยากประสบความสำเร็จ อยากมีหน้าที่การงานที่น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับ
เด็ก DTAC แนวใหม่ชอบวิธีการ “ฉันจัดเอง” พนักงานคิดเองว่าต้องการอะไร ไม่ต้องรอหัวหน้าบอก หัวหน้าหรือ HR มีหน้าที่ comment ว่าดีหรือไม่ (ผู้เขียนก็ชอบแบบนี้นะ)
ในมุมของบริษัทขนาดใหญ่อย่าง SCG เป็นองค์กรที่มี Turn Over 2.7% มีประสิทธิภาพในการคัดเลือกคน 40% หมายความว่า รับเด็กใหม่ 100 คน ผ่านไปเหลือคนประมาณ 55 คน – คุณศันสนะ ด่านศมสถิต HR Director- Corporate, SCG
SCG มองว่า เด็กจะต้องตอบคำถามก่อนว่า “ทำอย่างไรให้ถูกเลือก?” ในเมื่อมีคนให้เลือกมากมาย ทำยังไงให้บริษัทเลือก มีความแตกต่าง มีจุดเด่นอย่างไร
นอกจากการรับเข้าทำงานแล้ว SCG มองว่า จะรักษาคนไว้ได้ ให้มองว่าอะไรทำให้คนออกไป” ผลจาก Exit Interview พบว่า คนออกเพราะเนื้องาน (ผู้เขียน : แสดงว่าไม่ใช่ลาออกเพราะองค์กร เพราะเพื่อนร่วมงาน แต่เป็นที่เนื้องานอาจไม่เหมาะสมกับความถนัดหรือความสามารถถูกดึงมาใช้ไม่เต็มที่)
ด้วยเหตุนี้เอง SCG จึงมีแคมเปญ “เลือกแล้ว..เลือกได้อีก” สามารถ Rotate งานภายในองค์กรได้ ทั้งนี้เพื่อให้พนักงานมีโอกาสอยู่ในองค์กร ทำงานที่รัก (เหมือน retention ไม่ให้ย้ายค่ายมือถือ)
องค์กรสมัยใหม่ปิดกั้นข่าวสารไม่ได้แล้ว เด็กยุคใหม่ ตกข่าวไม่ได้ “ฉันรู้..โลกรู้” ดังนั้นองค์กรต้องเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมทางด้านการรับรู้ข่าวสารให้มาก การ block การปิดกั้นข่าวสาร Social Network สุดท้ายก็เข้าผ่านมือถือได้
แล้วคุณจะทำงานร่วมกับคนต่าง Gen อย่างไร
ในองค์กรมี GenX, GenY ทำงานร่วมกัน แล้วถ้ามี Gen Z เข้ามาในองค์กรเพิ่มขึ้น จะทำอย่างไรให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น?
ปัญหามักเกิดจาก “ช่องว่างระหว่างวัย” อาจารย์แพทย์หญิง จิราภรณ์ อรุณากูร กล่าวว่าถ้าลดคำเหล่านี้ “เด็กสมัยนี้” “พวกแก่หัวโบราณ” จะทำให้ลดช่องว่างระหว่างวัยได้ แต่ลดปัญหาที่มีต่อกันได้ (เอาจริงๆ ผู้เขียนมองว่า คนยุค Baby Boomer อาจจะยังทำงาน ในขณะที่ Gen Z คือคนอายุเท่าลูก หลาน ก็น่าจะเข้าใจกันได้มากขึ้น)
หัวหน้างานที่ปกครอง และดูแลเด็กยุคใหม่ ควรฝึกเทคนิคการฟัง “ฟังให้เยอะ สั่งให้น้อย รับฟัง Feedback เพื่อการปรับปรุง” เพราะเด็กยุคใหม่ มีอิสระเสรี, Work-Life Balance, ลาพักร้อนเป็นเรื่องสำคัญ, ต้องการให้คนยอมรับ ชอบให้คนมากด Like ใน FB
ส่วน DTAC ไม่เรียกโครงการ “ฝึกงาน” แต่เรียกว่า โครงการ”ลองดี” เพราะเด็กยุคใหม่ชอบลองดี มีอะไรใหม่ๆท้าทายให้ทำบ้าง การได้ลองดี ทำให้รู้ว่าลองแล้วดีไหม หรือลองแล้วไม่เวิร์ก
ข้อมูลจาก twitter suthathorn sutthison (@toppercool) หมดยุคที่ให้รางวัลพนักงานดีเด่นด้วยวิธีคนไม่เคยลาไม่เคยมาสายแล้ว ปัจจุบันองค์กรวัดผลด้วย Project base จะเหมาะกับ Gen Z มากกว่า วัดกันที่ผลงาน เด็กกลุ่มนี้ชอบแสดงความสามารถ พรีเซ็นต์ตนเอง ตัดสินที่เนื้องาน
ส่วน SCG แนะนำวัฒนธรรมใหม่ SCG “น้องสอนพี่” เปิดโอกาสให้เด็กใหม่สอนรุ่นพี่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ Appใหม่ๆ ลด Generation Gap ได้เป็นอย่างดี พลิกมุมมอง พี่สอนน้อง เป็นน้องสอนพี่ ทำให้ทุก Gen ยอมรับความแตกต่างกันและกัน
อีกมุมที่น่าสนใจคือ Hobby = งาน เด็กกลุ่ม Gen Z มอง งาน = hobby คืองานที่เราชอบ เรารัก และสนใจทำมัน ทำงานก็เหมือนเล่น Hobby เป็นงานอดิเรกที่สนใจ
ข้อมูลจาก @AdeccoThailand และแท็ก #AdeccoGenZ