ยอมรับตรงๆว่า ตอนแรกที่ทางสิงห์ เชิญให้ไปชมไร่บุญรอด หรือ สิงห์ปาร์ค เชียงราย ตัวอย่างขององค์กร Social Enterprise ในประเทศไทย ผมยังไม่รู้จักคำว่า Social Enterprise เลย เคยได้ยินผ่านๆ แต่ไม่ได้เข้าใจลึกซึ้ง การเยี่ยมชมสิงห์ปาร์ค เกี่ยวกับ Social Enterprise นี้ ได้รับเกียรติจาก คุณตราชู กาญจนสถิตย์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ธุรกิจ-เอเชีย และโอเชียเนีย ของสิงห์ คอร์เปอเรชั่น มาบอกเล่าเรื่องของ Social Enterprise ให้เข้าใจมากขึ้น เรียกว่าบล็อกนี้เป็นบล็อกถอดทุกถ้อยคำของพี่ตราชู ที่ได้คลายข้อสงสัยให้ผม เพื่อนำมาบอกต่อให้เราได้รู้จักกับ Social Enterprise ในประเทศไทย
Social Enterprise คืออะไร
Social Enterprise คำที่ดูเท่ๆนี้ เป็นคำที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยังไม่มีคนเข้าใจมากนัก บอกตรงๆว่าผมก็ยังไม่เข้าใจ (แป่วววว) จนได้มาเห็นกับตาตัวเองที่สิงห์ปาร์ค และได้เห็นผลผลิตของชาวบ้านที่ทำงานที่นี่ เขาภูมิใจ เขารู้สึกเป็นเจ้าของผลงานของพวกเขา ทำให้เรา เข้าใจคำว่า Social Enterprise โดยความตั้งใจของสิงห์ ที่เชิญเราไปที่จังหวัดเชียงราย เพราะอยากให้มาดูเบื้องหลังของสิงห์ปาร์ค ในฐานะที่สิงห์เป็นหนึ่งในองค์กร Social Enterprise ในประเทศไทย
ก่อนที่จะรู้จักคำว่า Social Enterprise ต้องเข้าใจคำว่า CSR และ CSV ต้องเข้าใจ 3 คำนี้ก่อน โดยยกตัวอย่าง บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ 3 บริษัท
1) CSR (ทำไป แล้วค่อยแก้ปัญหา)
บริษัทนึง ผลิตคอมพิวเตอร์มา พอได้กำไรก็เอาเงินไปบริจาคเด็ก เท่ากับเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม Corporate Social Respondsibility อย่างที่เราเห็นทั่วไป
2) CSV (ทำไป พยายามลดปัญหาไป)
CSV หรือ Creating Shared Value เป็นตัวอย่างของบริษัทคอมพิวเตอร์ที่ไม่เคยบริจาคอะไรให้ใครเลย ทั้งเงิน ทั้งสิ่งของ แต่พยายามคิดวิธีการเพื่อให้สังคมได้ประโยชน์ อาจจะไม่รับคนงานในท้องที่ แต่รับคนงานต่างถิ่น โดยสร้างหอพักให้อยู่อาศัยเลย เมื่อพนักงานอยู่ในหอพักก็ไม่ต้องเดินทาง ก็จะลดค่าใช้จ่ายที่จะต้องให้เป็นค่าเดินทางลง (เงินเดือนพวกเรานี่รวมค่าเดินทางแล้วล่ะนะ) เพราะถ้าจ้างคนในพื้นที่ ต้องมีการเดินทาง ต้องมีค่ารถ ดังนั้นก็เท่ากับช่วยลดต้นทุนในการจ้างงาน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม (ที่ต้องใช้รถ) ไม่นับถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษน้อยที่สุด แม้ไม่ได้บริจาคอะไรเลย แต่คิดเพื่อสังคม ไม่เว้นแม้แต่กระดาษที่ใช้ วิธีการรีไซเคิล การจัดการน้ำ ลดมลพิษให้มากที่สุด ทำเพื่อสังคม แม้ไม่ได้บริจาค อย่างแบบแรก แต่ก็คิดทุกวินาทีเพื่อสังคม ในขณะที่ CSR ทำมลพิษไปแล้วไปแก้เก้อ แก้ปัญหาให้สังคม ลดปัญหาภายหลัง
3) Social Enterprise (ยิ่งทำ ให้ลดปัญหา เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา)
บริษัทคอมพิวเตอร์ ผลิตคอมพิวเตอร์ขึ้นมาเพื่อขายทั่วไป แต่คนงานที่ทำเป็นคนพิการทั้งหมด หลายคนจะรู้ว่าคนพิการคนทำงานได้น้อย (หมายถึง ศักยภาพเขาจำกัด และมีการจำกัดอาชีพ) ดังนั้นจึงมีความพยายาม maximize ว่า 99% จะต้องเป็นคนพิการ ตั้งมาเพื่อแก้ปัญหาสังคม (คนพิการ ได้งานทำ มีรายได้) ทำเพื่อให้คอมพิวเตอร์ออกมาดี แข่งขันได้ มีกำไร แต่ข้อสำคัญของ Social Enterprise คือ ไม่ได้มีการปันผลเอากำไรกลับเข้าสู่เจ้าของบริษัท แต่เงินเข้ามาเพื่อขยายกิจการและจ้างคนพิการเข้ามาทำงาน แก้ปัญหาด้วยตัวของมันเองเลย
ถ้ากระโดดข้ามคำว่า CSV ไป เราอาจได้ยินคำว่า นักการเมืองยื่นปลา พระราชายื่นเบ็ด หมายถึง เอาปลาไป หมดก็ตัวใครตัวมัน ไม่เกี่ยวกับฉันแล้ว แต่ Social Enterprise เป็นการสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่าง เพื่อให้เป็นรูปแบบที่สามารถรันต่อไปได้ด้วยตัวของมันเอง อยู่เพื่อแก้ไขปัญหา เพียงแต่ทำในรูปแบบองค์กร
นี่คือข้อแตกต่างของ CSR, CSV และ Social Enterprise
ที่อังกฤษ เป็นจุดเริ่มต้นของรูปแบบ Social Enterprise เหตุเพราะว่า รัฐบาล ในโลกนี้ มีจำนวนเท่าจำนวนประเทศ ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ หากมองบริษัทใหญ่ๆ มีจำนวนเยอะกว่ารัฐบาล บริษัทใหญ่มีจำนวนเยอะกว่าจำนวนประเทศในโลก หากบริษัทเหล่านี้ หันมาให้ความสำคัญ จะมี Social Impact เยอะกว่าดังนั้น ความหมายของคำว่า Social Enterprise หลักๆคือ มุ่งเน้นที่เจตนา เดี๋ยวเราไปดูกันว่าสิงห์ปาร์ค เป็นยังไง
แต่ก่อนที่เราจะพูดถึง ไร่บุญรอด หรือสิงห์ปาร์ค ก็มีการยกตัวอย่าง Social Enterprise ให้เห็นชัดเจนมากขึ้น ต่างประเทศมีลูกนายทหาร ที่อเมริกา ลูกนายทหาร ไปเรียนกลับมาก็ตกงาน จึงมีการเปิดธุรกิจเกี่ยวกับแฟชั่น เอาของเหลือจากการทหารมาดัดแปลง ส่วนคนทำงานตามร้านออกแบบ ดีไซน์ก็เป็นคนปกติทั่วไป คนผลิตก็เป็นคนจัดการ รายได้ก็ไปขาย นำรายได้กลับมาให้คนงาน ได้ขยายธุรกิจต่อไป หรือประเทศเปรู เด็กๆยากจน มีคนเอากระป๋องมาทำเป็นเครื่องดนตรี กลายเป็นเล่นดนตรีได้จริง มีคนสอนเล่นดนตรี เด็กๆ มีรายได้เพราะถูกจ้างไปแสดงทั่วโลก นี่คือการที่คิดให้เด็กยากจน มีงานทำ ขจัดปัญหาความยากจนของเด็กๆให้มีงานทำ มีรายได้
ในประเทศไทยเราก็ตื่นตัว มีหน่วยงานที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา เรียกว่า TSEO หรือ Thai Soial Enterprise Office ภาษาไทยคือ สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ http://www.tseo.or.th เป็นองค์กรมหาชน แต่ตอนนี้ไม่ได้มีบทบาทอะไร เพราะยังไม่มีพรบ.รองรับเพื่อจัดทำงบประมาณ หน่วยงานนี้เกิดขึ้นมาเพื่อส่งเสริม Social Enterprise ในประเทศไทย มีความพยายามในการเป็น Funding ให้ มีแนวคิดที่ดีมากๆ
เมื่อเข้าใจ คำว่า Social Enterprise แล้ว ไปทำความรู้จักสิงห์ปาร์ค หรือ ไร่บุญรอด แรกเริ่มเดิมที เกิดมาเพื่อปลูกไร่บาร์เลย์ เพราะเป็นบริษัทเบียร์ ถ้าปลูกข้าวบาร์เลย์ได้ก็ไม่ต้องนำเข้า ถ้าปลูกได้เอง ก็เท่ากับได้จ้างงานจำนวนมาก ชาวบ้านก็ไม่ต้องปลูกฝิ่น ย้อนกลับไป 50-60 ปี มีเรื่องการห้ามค้าฝิ่น ห้ามยังไงดี ก็เลยมีการตัดฝิ่น (เพื่อไม่ให้ค้าฝิ่น) แต่เมื่อฝิ่นถูกตัด ก็หนีไปปลูกฝิ่นที่อื่นอีก แก้ไม่จบ วิธีการแก้ก็คือหางานอื่นให้เขาทำ มีโครงการหลวง ถือเป็น Social Enterprise แนวคิดแบบเดียวกัน (แต่ตอนนั้นยังไม่มีคำนี้) แม้กระทั่ง ศูนย์ศิลปาชีพก็ถือเป็นหนึ่งใน Social Enterprise ตอนนั้นรู้จักกันในชื่อของโครงการหลวง จุดหลักคือสร้างการหมุนเวียนของการจ้างงาน ให้คนมีงานทำ
ความต้องการในการจ้างงานให้กับคนที่ไม่มีงานทำ ปัจจุบันสิงห์ปาร์ค มีพนักงาน 1,200 คน 1,100 คนเป็นคนพม่า เป็นคนชาวเขา เป็นคนแถวนั้น
สิงห์ปาร์ค แรกๆปลูกข้าวบาร์เลย์ ปลูกไปสักพัก ปรากฎว่าผลผลิตไม่ค่อยดี ก็ขออนุญาตเลิก (ปลูก) แต่ไม่เลิกความตั้งใจ พยายามปลูกผลไม้ต่างๆ และต่อมา ด้วยความที่จังหวัดเชียงราย มีสถานที่ท่องเที่ยวมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้มีแม่สาย มีโครงการหลวง และวัดทั่วไป พอหลังๆ มีวัดร่องขุ่น มีพิพิธภัณฑ์บ้านดำ มีคนมาท่องเที่ยว มี Social Media เข้ามา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากอุตสาหกรรม ทำให้คนอยากมาเที่ยวเชียงราย มาสิงห์ปาร์คฟรี ไม่เก็บเงินค่าดู จุดหลักคือหาทางเปลี่ยนพื้นที่ตรงนั้น (สิงห์ปาร์ค) ให้คนในพื้นที่ มีรายได้ขึ้นมา
รายได้มาจากอะไร บริษัทมีการทำ Funding ก่อน คนมาก็อยากดูยีราฟ อยากถ่ายรูปกับไร่ชา มีชา มีดอกไม้ มีผลไม้ คนอยากมาถ่ายรูป มีคนงานมาทำงาน มีรายได้ คนงานดีใจที่เขามีรายได้ เขาไม่เคยคิดว่าเขาจะได้เป็นพนักงานบริษัท มีรายได้ สำหรับไร่ชา ก็มีบริษัทจากญี่ปุ่นมาขอร่วมหุ้นด้วย ส่งทีมงานมาจากญี่ปุ่น และยกโรงงานมาผลิตที่ประเทศไทยเลย ภายในโรงงานใช้มาตรฐานการผลิตแบบญี่ปุ่น คนงานญี่ปุ่น ส่วนการปลูก ก็ใช้รูปแบบการปลูกของญี่ปุ่น แต่ใช้คนงานชาวเขา ชาวพม่า
หนึ่งใน Social Enterprise คือการทดลองปลูกพืช ผัก ผลไม้ในประเทศไทยเพื่อให้คนในท้องถิ่นได้มีงานทำ มีแปลงทดลองไร่เสาวรส สิงห์ใช้วิธีการปลูกในพื้นที่สูงระดับนึง จึงทำแปลงทดลอง เพื่อทำให้ปลูกเสาวรสได้ ทำแปลงบลูเบอร์รี่ เพราะตอนนี้มีการนำเข้ามา ราคาแพง คุณภาพก็ไม่ดี ปลูกที่นี่ก็ปลูกไม่ขึ้นจึงมีการทดลองเพื่อลดการนำเข้า หากทำได้จริงก็จะขยายไปแปลงใหญ่ เพื่อสร้างรายได้ให้คนปลูกต่อไป
พริกก็มีการทดลองปลูกด้วยเช่นกัน หลายๆอย่างเกิดขึ้นเพื่อทำให้เกิดสินค้าใหม่ แปรรูป แม้กระทั่งน้ำผลไม้ สิงห์ก็มีการซื้อหุ้นบริษัทที่เยอรมัน บริษัทเขาก็เอาสินค้าสิงห์ไปใส่ในผลิตภัณฑ์ของเขาเพื่อขายในยุโรป ถือเป็นการทำที่ไม่หวังผลกำไร คืนสังคม สังคมก็มาร่วมกันทำ นอกจากนั้นมีร้านอาหาร ที่เอาแปลง เอาผัก ไปใช้ (ร้านภูภิรมย์)
จะเห็นได้ว่า การสร้างสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่การทำธุรกิจ หลายคนอาจมองเผินๆ ว่ามันก็คือธุรกิจ แต่หากมองลึกๆ เป็นการสร้างเพื่อให้มีการจ้างงานจำนวนมาก ดอกคอสมอส ใช้คนพรวนดิน รดน้ำ 1 ไร่จะใช้คน 10 คน การมีดอกคอสมอส เพื่อให้คนมาถ่ายรูปสวย ต้องปลูกเยอะๆ จ้างคนมาปลูกเยอะๆ นักท่องเที่ยวอาจจะมองจากภายนอกไม่ทราบ เห็นว่ามีดอกคอสมอสสวยๆ เยอะ แต่เอาจริงๆ มองลึกๆ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดการจ้างงาน
ส่วนการเลี้ยงยีราฟ ต้องปลูกอาหารให้ยีราฟ เพื่อให้ยีราฟกิน ต้องจ้างคนดูแลยีราฟ ต้องมีคนปลูกอาหารให้ยีราฟ จ้างคน สร้างรายได้ ทดลองปลูกแปลงพีช ผัก รายได้เป็นรายได้ของเขา เขารู้สึกเป็นเจ้าของผลิตผลที่ตนเองทดลอง สุดท้ายมีการสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่นั้นๆ เป็นค่าแรงของแรงงาน
จากบทความนี้ เราจะเห็นได้ว่า Social Enterprise หรือ CSR หรือ CSV ทำให้เราเริ่มเห็นภาพชัดเจนและตระหนักว่า ตอนนี้ธุรกิจทั่งโลก สนใจสร้างมาตรฐานจริยธรรมทางธุรกิจ ด้านทัศนคติเวลาคนมองธุรกิจ และจะเป็นมาตรฐานจริยธรรมทางทัศนคติของธุรกิจในอนาคต ส่วนบทความถัดไปจะพาชมสิงห์ปาร์ค ไปดูผลิตผลของแปลงเพาะปลูก ที่ทดลองนักต่อนักเพื่อให้คนไทยไม่ต้องนำเข้าผลหมากรากไม้ต่างๆ ถ้าทำได้เอง ปลูกได้เอง ราคาไม่แพง ก็น่าสนใจใช่ไหมล่ะ
สรุป จุดหลัก Social Enterprise คือ จุดที่ธุรกิจแสดงตนว่ามีมาตรฐานตรงนี้ มีจริยธรรม ไม่ได้แสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว แต่ท้ายที่สุดแล้ว คนได้ประโยชน์คือสังคม คนมีรายได้ คนมีงานทำนั่นเอง
สิงห์ปาร์ค เน้นทำสินค้าเพื่อขาย ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นส่วนนึง อย่างไร่ชา เป็นที่เที่ยว มีทั้งหมด 8,000 ไร่ ญี่ปุ่นก็มาทำชา มีสินค้าผลิตส่งออก เห็ดหอม หน้าร้อน หน้าฝน คนเที่ยวน้อย มีแรลลี่ ไตรกีฬา จักรยานคนงาน 1,200 คน 100 คนแรกเป็น ผู้บริหาร ทีมงาน มาจากกรุงเทพ พวกที่จบเกษตร มีความรู้ ส่วน 1,100 เป็นคนพม่า บอกได้เลยว่าสิ่งที่ประทับใจสุดๆ ก็คือ สีหน้า รอยยิ้มของพนักงานที่นี่ เขารู้สึกว่าแปลงเพาะปลูกเป็นของเขา เขาปลูก รดน้ำ พรวนดิน เองกับมือ ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นลูกจ้าง ทำตามหน้าที่ให้บริษัท ผลผลิตทางการเกษตรเป็นของเขา สิงห์ provide แค่สถานที่ แต่บรรยากาศเป็นของพวกเขา เป็นความตั้งใจของพวกเขาทั้งหมด เพราะการทดลองในแปลงทดลอง บลูเบอร์รี่ กำลังทดลอง ปลูกมา 2 ปีแล้ว แปลงไหนมียีนส์ที่ดี แล้วจะนำไปขยายผลปลูก สิ่งที่ปลูกแล้วสำเร็จมากกว่าข้าวบาร์เลย์ ข้าวบาร์เลย์ไม่สำเร็จเพราะปริมาณแป้งน้อย และมีการปลูก สตอร์เบอร์รี่ พุทรา ราสพ์เบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ มีผัก มีแปลงผักหลายอย่าง ไม้ล้มลุกต่างๆ เดี๋ยวจะพาไปชมกันตอนหน้าครับ แล้วคุณจะอยากไปเห็นสีหน้าของชาวบ้านที่ปลูกในแปลง มีความภูมิใจ มีสวัสดิการ
มีรายได้ที่มั่นคง จากวันที่ไม่เคยคิดว่าจะมีรายได้ เป็นหมื่น มีรถ ลูกมีที่เรียน เป็นสีหน้าแห่งความภาคภูมิใจในงานที่พวกเขาได้ทำ
อ่านถึงตรงนี้ แม้จะรู้ว่า Social Enterprise คืออะไร แต่ไม่ต้องห่วง ว่าจะแย่งงานชาวบ้านทำ เพราะในท้องถิ่นนั้นๆ หากร้านอาหาร ขายอะไร ในสิงห์ปาร์คจะไม่ขาย ไม่มีการขายแข่งกับชาวบ้านที่นั่น ดังนั้น หากดูในร้านภูภิรมย์เราจะเห็น Signature คืออะไรต้องไปดู
บล็อกตอนหน้า เราจะพาเที่ยวสิงห์ปาร์ค องค์กร Social Enterprise ในประเทศไทย อ่านแล้วรับรองรับเตรียมตัวไปปั่นจักรยานกันได้เลย (นักท่องเที่ยวที่นี่ ส่วนใหญ่คือคนไทย ส่วนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมีไม่ถึง 10% ส่วนใหญ่มาเที่ยวช่วงหน้าหนาว) แล้วพบกันตอนหน้าครับ