จากอดีต ที่เราตั้งใจเรียน ทำงานประจำ มีความมั่นคง หวังจะได้เป็นเจ้าคนนายคน แต่ล่าสุด กระแสการทำงานแบบชั่วคราว ในที่นี้หมายถึง การทำงานแบบสัญญาจ้างระยะสั้น ได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เด็กจบใหม่
ข้อมูลจากการสำรวจของอเด็คโก้ประเทศไทย มีการเปรียบเทียบระหว่างปี 2016 -2017 พบว่า ผู้สมัครงานต่างให้ความสนใจงานรูปแบบสัญญาจ้างระยะสั้นมากถึง 53% ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สอดคล้องกับผลสำรวจก่อนหน้านี้ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ซึ่งชี้ว่าตัวเลขของ gig worker (แรงงานชั่วคราว) กว่า 30% ของคนในวัยทำงาน มีความสนใจการทำงานระยะสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ในการรับสมัครงานประจำ เรามองที่อายุ และสกิล แต่สำหรับ gig worker นั้นดีกว่าสำหรับผู้สมัคร เพราะไม่มีเงื่อนไขของอายุเข้ามาเกี่ยวข้อง อายุน้อยหรือมาก แต่ถ้ามีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ก็สามารถร่วมงานได้ทั้งสิ้น
ข้อดีคือมีคนที่มีสกิลเข้ามาทำงานเก่ง เข้ามาช่วย แต่สัญญาจ้างระยะสั้น อาจเข้ามาช่วยให้โปรเจคสำเร็จในระยะสั้นๆ แต่อย่าลืมว่า ลูกจ้างชั่วคราว ยังไงก็ไม่มีสวัสดิการเหมือนพนักงานกับประจำ
จากนี้ไป จนถึงประมาณปี 2568 หรืออีก 6-7 ปีข้างหน้า การจ้างพนักงานประจำจะมีอัตราลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะค่านิยม ความต้องการ และวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ต้องการความอิสระ และคล่องตัว ทั้งนั้นเพราะ generation Y เกิดมาพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถสื่อสาร ทำธุรกิจ และทำอะไรหลาย ๆ อย่างประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วโดยผ่านโลกออนไลน์ อ้างอิงจาก รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข รักษาการรองผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“คนเหล่านี้ไม่ชอบงานประจำที่จำเจ น่าเบื่อหน่าย อยากประสบความสำเร็จเร็ว ๆ ดังนั้นหากพวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ ก็มักจะเลือกเป็นฟรีแลนซ์ รับงานอิสระ ยิ่งถ้าคนไหนเป็นคนเก่ง มีฝีมือ ย่อมมีคนมาว่าจ้างงาน แนวโน้มต่อจากนี้ไปในอนาคต คนจะหันมาทำงานในลักษณะนี้มากขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันประเทศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีมากขึ้น gig worker ก็จะเกิดมากขึ้นด้วย”
เรียบเรียงจาก ประชาชาติธุรกิจ